ทันตกรรมสำหรับเด็ก

(Pedodontics)

ทันตกรรมเด็ก คือการรักษาสุขภาพช่องปากในเด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้นมา ในช่วงอายุประมาณ 6 – 8 เดือน ไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนกลางอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นมาแทนฟันน้ำนมทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นฟันกรามซี่ในสุด 4 ซี่ ที่จะขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 18 ปี) โดยทันตกรรมเด็ก จะเน้นไปที่การดูแลฟันน้ำนมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนม การทำทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันน้ำนมผุ และรักษาฟันผุ ทันตกรรมเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากฟันน้ำนมในเด็กกับฟันแท้ในผู้ใหญ่มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน การทำฟันเด็กจะเน้นดูแลและป้องกันฟันผุเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะของฟันน้ำนมนั้น ผุได้ง่ายกว่าฟันแท้ อีกทั้งตัวฟันก็ซี่เล็กกว่าฟันแท้ด้วย นอกจากนี้ เด็กยังเป็นวัยที่ไม่สามารถแยกความเจ็บปวด ออกจากความกลัวหรือความเครียดได้ เมื่อมีอาการปวดฟันหรือรู้สึกกดดันเมื่อทำฟันก็จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟันเด็กจึงต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องจิตวิทยาการสื่อสารกับเด็กๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกับทันตกรรมในผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก
ในทางทันตกรรม จะแบ่งเด็กๆ ออกเป็น 3 ช่วงวัยตามพัฒนาการของฟัน ดังนี้
เด็กเล็ก หมายถึง เด็กในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน – 2 ปี เป็นช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นและขึ้นจนครอบ เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ทันตกรรมในช่วงนี้จึงจะเน้นเรื่องการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนมให้กับคุณพ่อคุณแม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำในเรื่องการทำความสะอาดฟันน้ำนม พฤติกรรมการกินนมหรือใช้ขวดนมที่ดีต่อฟันน้ำนม การเลิกนมมือดึก การเลิกขวดนม การเลือกอาหารว่างที่เหมาะสมกับฟันของเด็ก
เด็กวัยอนุบาล เป็นเด็กในช่วงอายุประมาณ 3 – 6 ปี เป็นช่วงของการดูแลฟันน้ำนมเมื่อขึ้นครบแล้ว เด็กในวัยนี้เริ่มดูแลรักษาฟันด้วยตัวเองได้แล้ว และเป็นวัยที่เริ่มพบฟันผุจนมีอาการปวดฟันได้เช่นกัน การทำฟันเด็กในวัยนี้จะเน้นที่การแนะนำให้เด็กรู้จักกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ดูแลรักษาฟัน และวิธีการดูแลช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำทันตกรรมให้เด็ก โดยสิ่งที่แนะนำจะมีตั้งแต่การแปรงฟัน ขัดฟัน ตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ไปจนถึงทันตกรรมเด็กอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กๆ เริ่มคุ้นเคย และในการทำฟันแต่ละครั้ง ทันตแพทย์จะไม่ทำฟันนาน แต่จะนัดพบหลายครั้งแทน เพื่อไม่ให้เด็กวัยนี้เครียดจนเกินไป เมื่อเด็กคุ้นเคยมากขึ้นจึงจะเริ่มเพิ่มเวลา
เด็กโต คือเด็กในช่วงอายุประมาณ 7 – 12 ปี เป็นช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม และเป็นช่วงที่เด็กโตพอที่จะดูแลตัวเองได้อย่างดี และสามารถควบคุมตนเองได้ระหว่างการทำฟัน ทันตกรรมเด็กที่จะทำในเด็กโต จะเน้นไปที่การแนะนำเกี่ยวกับการดูแลฟันแท้ อย่างข้อควรระวังเกี่ยวกับการดูแลฟันหน้า การป้องกันฟันแท้ผุโดยเฉพาะที่ฟันกรามแท้ เป็นต้น

ข้อดีของการรักษาฟันเด็ก

เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้นในช่องปากแล้ว การดูแลรักษาฟันเด็กให้ดีตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม จะช่วยทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาฟันตัวเองและไม่กลัวหมอฟัน ซึ่งการมีฟันน้ำนมไว้เคี้ยวอาหารจะช่วยไม่ให้มีปัญหาในการพูดหรือการบดเคี้ยว และการขึ้นมาของฟันแท้ในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้หากเด็กมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดฟันผุในฟันแท้ ทำให้เป็นฟันแท้ที่แข็งแรง และยังช่วยประหยัดค่าทำฟันได้อีกมาก ถ้าเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาฟันเองเบื้องต้นได้
หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มดูแลสุขภาพฟัน และรักษาฟันเด็กอย่างไร แนะนำให้พาเด็กไปพบกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อรับคำแนะนำในการทำความสะอาดช่องปากทั่วๆไป เช่น หลังจากที่รับประทานอาหาร หรือนมเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดฟันอย่างไร

แนวทางปฏิบัติในการดูแลฟันและสุขภาพปากของเด็ก

หลังรับประทานอาหาร หากเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือยังไม่ถึงสองขวบ ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเพื่อนำไปเช็ดฟัน และกระพุ้งแก้มให้เด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและก่อนนอน
เมื่อเด็กมีฟันเริ่มขึ้นหลายซี่แล้ว ควรแปรงฟันให้เด็กด้วยแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่มีขนอ่อนนุ่ม หรือสอนเด็กแปรงฟันด้วยตนเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องแปรงซ้ำจนกว่าเด็กอายุประมาณ 6-7 ขวบ เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรแปรงฟันให้เด็กหลังรับประทานอาหารเสริม หากเด็กกินนมผงก็ไม่ควรเลือกรสหวาน ในการเลือกอาหารว่าง ควรจะเลือกอาหารที่มีประโยชน์อย่างพวกผลไม้ แทนขนมหวาน หรือขนมขบเคี้ยวทั้งหลาย
หมั่นตรวจ และสังเกตฟันเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูเหงือก และฟันว่าความสิ่งผิดปกติหรือไม่ หากพบคราบสกปรกให้ค่อยๆ เช็ดหรือแปรงออก
หากพบว่าเด็กมีฟันสีขุ่นขาวหรือเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือมีรูที่คาดว่าน่าจะเป็นฟันผุ ควรรีบพาเด็กเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก