ศัลยกรรมช่องปากและใบหน้า

(Oral surgery)

ทันตกรรม ศัลยกรรมช่องปาก เป็นวิธีการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ซึ่งโดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่าศัลยกรรมช่องปากเป็นเพียงงานถอนฟัน ผ่าฟันคุด แต่จริง ๆแล้ว งานศัลยกรรมช่องปาก เป็นการรักษาที่กว้างกว่าการถอนฟันและผ่าฟันคุดอยู่มาก

ศัลยกรรมช่องปากมีอะไรบ้าง

  • การผ่าฟันคุด (Impacted tooth surgery) หรือฟันฝัง (Embedded tooth surgery)
  • การถอนฟัน
  • การผ่าตัดเพื่อปลูกกระดูก (Bone graft surgery)
  • การผ่าตัดเพื่อฝังรากฟันเทียม (Implant surgery)
  • การผ่าตัดเหงือกก่อนเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์ (Pre-prosthetic surgery) เช่นการตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวฟัน (Crown-lengthening)
  • การทำศัลยกรรมก่อนเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์ (Pre-prosthetic surgery)
  • การผ่าตัดเพื่อจัดแต่งขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน (Orthognathic surgery)
  • การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร (Surgical correction of jaw excess/deficiency)
  • การปรับตำแหน่งขากรรไกรล่าง (Mandibular setback/advancement)
  • การจัดการกับรูปหน้าที่ผิดปกติ (Management of facial deformities)

การถอนฟันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งบางครั้งอาจมีปัญหาสุขภาพฟันทำให้มีความจำเป็นต้องถอนฟัน หลาย ๆ คนกลัวการถอนฟัน เนื่องจากทำให้เกิดการเจ็บปวดและมีแผลในช่องปาก อีกทั้งทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เรามาดูสาเหตุของการถอนฟันจะได้รู้วิธีป้องกันและหากต้องทำการรักษาจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจการถอนฟันมากยิ่งขึ้น
สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

  • ฟันผุ ฟันผุมากและไม่ได้รับการรักษาในระยะเวลานานจะทำให้คราบจุลินทรีย์ทำลายไปถึงเข้าถึงโพรงประสาทฟัน จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือรักษารากฟัน มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจลุกลามไปยังฟันซี่ข้างเคียง
  • โรคเหงือก มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง (gum disease) เนื่องจากโรคเหงือกอักเสบจะมีอาการเหงือกบวมแดง ถ้าเป็นในระยะที่รุนแรงจะทำให้กระดูกรองรับฟันละลาย และฟันโยกได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ฟันหลุด หรือต้องถอนฟัน
  • ฟันหัก หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีความจำเป็นต้องถอนฟัน เนื่องจากเนื้อฟันเหลือน้อยเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดฟัน รักษารากฟัน หรือครอบฟันได้
  • อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถขึ้นได้ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ฟันคุด, ฟันฝัง
  • จัดฟัน เป็นการเตรียมก่อนเข้ารับการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนการรักษาว่าจะต้องถอนฟันซี่ไหนบ้าง เพื่อให้เกิดช่องว่างและการเรียงตัวของฟันใหม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของผู้ที่จะจัดฟันแต่ละคน

ขั้นตอนการถอนฟัน

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและพิจารณาถึงความจำเป็นในการถอนฟัน ในบางกรณีจำเป็นต้องถ่ายX-Ray เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งX-rayสามารถบอกสภาพฟัน รากฟันและกระดูกรองรับฟันได้
  2. ทายาชาเพื่อให้บริเวณที่จะฉีดยาชารู้สึกน้อยที่สุด และฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการถอนฟัน
  3. เมื่อรู้สึกชาเต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะค่อยๆโยกฟันทีละนิดอย่างนุ่มนวล จนฟันหลุดออกมา
  4. หลังจากถอนฟันแล้ว ให้กัดผ้าก๊อชที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล
  5. ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลังการถอนฟัน

 
 

*หลังการถอนฟัน สามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายในเวลาสั้นๆ และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ หรือการอยู่กลางแจ้ง

ฟันคุด (Wisdom tooth) คือ ฟันกรามซี่ในสุด เป็นฟันกรามแท้ชุดสุดท้ายที่จะออกมาตอนช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 20 ปี ซึ่งในความเป็นจริงฟันกรามชุดนี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากฟันซี่อื่นๆเลย มีความสามารถในการบดเคี้ยวเท่าเทียมกับฟันกรามซี่อื่นๆ เพียงแต่น้อยคนนักที่มีฟันกรามขึ้นมาตามปกติพร้อมกับมีตำแหน่ง ลักษณะการขึ้นที่เหมาะสมและมีเหงือกโดยรอบที่มีสุขภาพดี เมื่อไรก็ตามที่ฟันกรามซี่ในสุดมีอุปสรรคในการขึ้น อาจเนื่องจากลักษณะการงอกออกมา หรืออะไรก็ตาม จะเรียกว่าเป็นฟันคุด ซึ่งทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ดูลักษณะและตำแหน่งการวางตัวของฟันและวิเคราะห์ถึงความผิดปกติ ก่อนทำการหาวิธีการแก้ไข

ฟันแบบไหนที่ต้องผ่าฟันคุด

ฟันคุดที่ขึ้นในเเนวนอน ไม่สามารถขึ้นตรง ๆ ได้เหมือนฟันปกติมีเเนวพุ่งเข้าหาฟันกรามซี่ที่สอง หรือฟันที่มีทิศทางการขึ้นของตัวฟันที่เอียง ๆ ทำให้มองเห็นว่าขึ้นได้บางส่วนแบบปริ่ม ๆ เหงือก ฟันคุดเป็นสาเหตุที่สามารถก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก การติดเชื้อ โรคเหงือก การเป็นฝีในช่องปาก หรือ ส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงสามารถผุได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ดังนั้นทันตแพทย์โดยส่วนใหญ่จะแก้ปัญหานี้โดยการผ่าตัดเพื่อเอาฟันคุดออกไป

อาการฟันคุด เป็นอย่างไร

อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่ฟันคุดเริ่มงอกออกจากเหงือกมีดังนี้

  • อาการปวดบริเวณเหงือก
  • เกิดการอักเสบติดเชื้อ
  • อาการบวมที่แก้มและใบหน้า
  • อาการเหงือกบวม

หากคุณเป็นคนที่เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คทุก 6 เดือน – 1 ปีอยู่แล้ว ในช่วงอายุประมาณ 17-20 ปีทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจเอกซเรย์ เช็คดูว่าฟันซี่สุดท้ายมีลักษณะอย่างไรบ้าง มีฟันคุดซ้อนตัวอยู่หรือไม่ อยู่ในตำแหน่งใด และหากตรวจพบทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าฟันคุดออกเสียตั้งแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด เพราะถ้าปล่อยให้ฟันคุดต่อไปนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังจะมีผลเสียต่อสุขภาพของช่องปากอีกด้วย การเข้ารับผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกนั้นช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

ขั้นตอนการถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและพิจารณาถึงความจำเป็นในการถอนหรือผ่าฟันคุด
  2. ในบางกรณีการถ่ายเอกซเรย์อาจมีความจำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาซึ่งสามารถบอกสภาพฟัน รากฟันและกระดูกรองรับฟันได้
  3. ทันตแพทย์จะตรวจสอบประวัติด้านสุขภาพของคุณ ซึ่งควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ปัญหาการหยุดไหลของเลือด ปัญหาสุขภาพเช่นโรคตับ และโรคเบาหวานและการแพ้อาหารและยาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
  4. ฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังจุดใกล้เคียงบริเวณที่ผ่าตัด โดยการใช้ยาชาเฉพาะจุดจะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่ผ่าตัด
  5. เมื่อรู้สึกชาเต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดด้วยการใช้มีดกรีดที่เนื้อเยื่อเหงือกเพื่อเปิดให้เห็นกระดูกและฟันคุด และแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมา ก่อนจะค่อยๆคีบเศษฟันออกจากบริเวณแผล
  6. นำเศษฟันหรือกระดูกที่ตกค้างอยู่ออกจนหมด และล้างทำความสะอาดบริเวณแผล แล้วจึงเย็บปิดแผล ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลังถอนหรือผ่าฟันคุด
  7. ทันตแพทย์จะนัดมาเช็คแผลและตัดไหม หลังจากผ่าตัดประมาณ 7-14 วัน
*อาการหลังผ่าฟันคุด อาจมีอาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรกๆหลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อยๆดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้

คือหนึ่งวิธีของการรักษาที่สามารถช่วยให้ผลการรักษาออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งจะให้การรักษาในกรณีที่ปริมาณของกระดูกขากรรไกรไม่สมบูรณ์หรือมีไม่เพียงพอ เช่น การฝังรากเทียม (Implant) หรือแก้ไขความไม่สมดุลของรูปหน้า เป็นต้น ส่วนกระดูกที่นำมาใช้งานนั้นทันตแพทย์อาจใช้กระดูกของคนไข้เอง หรือใช้กระดูกสังเคราะห์ ขึ้นอยู่กับความเพียงพอและความเหมาะสมกับลักษณะของงานที่ทำประกอบกัน

สาเหตุของการสูญเสียกระดูก

  • ความผิดปกติของการเจริญของกระดูก
  • โรคเหงือก ที่ก่อให้เกิดรองลึกปริทันต์
  • การบาดเจ็บ หรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณใบหน้า
  • เกิดช่องว่างของกระดูกและฟันหลังจากมีการถอนฟันออกไป และไม่ได้รับการใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันเดิมที่สูญเสียไปเป็นระยะเวลานาน

กระดูกเบ้าฟัน หรือกระดูกส่วนกระดูกที่รองรับรากฟัน (Alveolar bone)ในขากรรไกรของเราโดยปกติแล้ว จะช่วยรองรับและยึดฟันไว้ หากคุณมีการใช้กระดูกขากรรไกรในแต่ละวันมากเกินไปเช่นการบดเคี้ยว จะทำให้กระดูกขากรรไกรเกิดการสูญเสียของมวลกระดูกบริเวณนี้ได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถหากระดูกมาทดแทนได้อย่างหลากหลาย โดยหลัก ๆ กระดูกทดแทนจะมีทั้งหมด 4 ชนิด คือกระดูกจากสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันเป็นกระดูกจากผู้บริจาค กระดูกจากคนไข้เอง กระดูกจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และกระดูกสังเคราะห์ โดยมีวิธีในการปลูกถ่ายกระดูก 4 วิธีคือ การปลูกถ่ายกระดูกเบ้าฟัน การปลูกถ่ายกระดูกสันขากรรไกร การปลูกกระดูกแบบชิ้น และการปลูกกระดูกในไซนัส เป็นต้น
ดังนั้นการปลูกถ่ายกระดูกของที่ศูนย์ทันตกรรมเราจึงเป็นที่นิยมและดีสำหรับคนไข้ที่ต้องการทำการปลูกกระดูกแบบไร้ความเจ็บปวดและไร้ความวิตกกังวลอีกด้วย

วิธีการดูแลรักษาหลังปลูกกระดูกฟัน

  1. ภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังการผ่าตัดควรระมัดระวังการกระทบกระเทือนในช่องปาก คนไข้ควรรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน งดการดูดน้ำหรืออาหารจากหลอดจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี
  2. ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดไม่หยุดไหล และทำให้แผลหายช้า ส่งผลเสียต่อรากฟันเทียมและบาดแผลจากการผ่าตัด
  3. ห้ามสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่จะทำให้การรักษาได้ผลช้าลงและไม่สำเร็จ
  4. งดออกกำลังกายหนักและทำกิจกรรมใน 1 – 3 วันแรกหลังปลูกกระดูกฟัน เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน หรือเลือดสูบฉีดจนทำให้เลือดกลับมาไหลจากปากแผลอีก
  5. ในการปลูกกระดูกฟันอาจใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้กระดูกที่ปลูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับกระดูกของเรา
การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร คือ การผ่าตัดเพื่อปรับตำแหน่งของขากรรไกรร่วมกับการจัดฟันเพื่อช่วยแก้ไขและปรับปรุงโครงหน้าที่ผิดปกติ รวมถึงการแก้ปัญหาการสบฟันให้มีความเหมาะสม เนื่องจากในบางกรณีความผิดปกติของขนาด รูปร่างหรือตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถส่งผลกระทบทำให้การสบฟันและการบดเคี้ยวผิดปกติ รวมไปถึงความผิดปกติของรูปหน้าอีกด้วย
การผ่าตัดขากรรไกร อาจมีแค่ 1 หรือทั้ง 2 ขากรรไกร โดยจะได้รับการประเมินเบื้องต้นจากทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน ร่วมกับทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ โดยต้องประเมินหลายๆอย่าง เพื่อดูความเป็นไปได้ในการผ่าตัด ทันตแพทย์ผ่าตัดจะให้ทางเลือกในแผนการผ่าตัดและร่วมตัดสินใจกับคุณ

สาเหตุหลักที่ต้องผ่าตัดขากรรไกร

การที่ขนาดและตำแหน่งของขากรรไกรบน-ล่างไม่สัมพันธ์กัน เป็นสาเหตุของปัญหา เช่น

  • การเคี้ยวและการกลืน
  • ปวดกล้ามเนื้อ, กระดูก, ข้อต่อ
  • ภาวะฟันสึกมากผิดปกติ
  • การสบฟันที่ผิดปกติ
  • คางหุบหรือยื่นมากเกินไป

การผ่าตัดขากรรไกรและจัดฟันหลังผ่าตัด

สำหรับคนไข้ที่ทีมทันตแพทย์ลงความเห็นว่า ควรได้รับการผ่าตัดขากรรไกรก่อนจัดฟัน (Surgery First ) เมื่อพร้อมที่จะผ่าตัด ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปาก เพื่อจำลองการผ่าตัดในแบบจำลองฟัน และทำเฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) สำหรับใช้ในห้องผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วอาจจำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้าน 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อคนไข้หายดีแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการ การจัดฟัน เพื่อปรับการเรียงฟัน และการสบฟันให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

การจัดฟันก่อน แล้วค่อยผ่าตัดขากรรไกร

สำหรับคนไข้ที่ทีมทันตแพทย์ลงความเห็นว่าควรได้รับการจัดฟันให้มีความเหมาะสมดีก่อนเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกร คนไข้เข้ารับการจัดฟันก่อนผ่าตัด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อแก้ไขการซ้อนเกและปรับแนวแกนฟัน เนื่องจากโดยปกติคนไข้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกร จะมีการชดเชยของฟันโดยฟันจะล้มเอนตามธรรมชาติไปปิดบังความผิดปกติของขากรรไกร ดังนั้น เมื่อเข้ารับการจัดฟันก่อนผ่าตัดจะทำให้การสบฟันก่อนผ่าตัดโดยรวมทั้งใบหน้าดูแย่ลงเพียงชั่วคราว และเมื่อพร้อมที่จะผ่าตัด ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากอีกครั้ง
เพื่อจำลองการผ่าตัดในแบบจำลองฟัน และทำเฝือกสบฟัน(Occlusal Splint) สำหรับใช้ในห้องผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วอาจจำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้าน 2-4 สัปดาห์ เมื่อคนไข้พักฟื้นหายดีแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการจัดฟันต่ออีกประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อปรับการเรียงตัวและการสบฟันให้สมบูรณ์มากขึ้น
การจัดฟันหลังการผ่าตัดยังคงมีความจำเป็นในทุกกรณีเพื่อแก้ไขการสบฟันที่อาจยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หรือเพื่อคงสภาพฟันหลังการผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะต้องรอให้ผู้เข้ารับบริการมีฟันแท้ขึ้นมาจนครบเสียก่อน นอกจากในบางกรณีเท่านั้นที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่นกรณีอุบัติเหตุ ศัลยแพทย์จึงจะทำการผ่าตัดให้ทันที และการผ่าตัดจัดแต่งขากรรไกรในผู้ใหญ่นั้น บางครั้งยังสามารถเป็นศัลยกรรมเพื่อความงามโดยทำร่วมกับการผ่าตัดเนื้อเยื่อบางส่วนเพื่อให้ได้รูปหน้าที่มีความสวยงามมากขึ้นได้อีกด้วย

ข้อดีของการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

  • สามารถช่วยแก้ไขความผิดปกติของตำแหน่งของฟัน ช่วยให้การสบฟันมีความเหมาะสม ช่วยปรับการเรียงตัวฟันให้มีความสวยงาม และใช้งานได้ดี
  • ช่วยแก้ไขและปรับปรุงโครงหน้าที่ผิดปกติ เช่น หน้าเบี้ยว คางยื่น ฟันไม่สบกับ เพื่อการเคี้ยวให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • แก้ไขให้สามารถออกเสียงได้ดีขึ้น ชัดขึ้น มีบุคลิกภาพที่ดี ที่สำคัญยังแก้ไขถึงความผิดปกติของรูปหน้าอีกด้วย ทำให้มีใบหน้ามีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
  • ช่วยให้ริมฝีปากสามารถหุบได้สนิทในบางกรณีที่มีปัญหาเรื่องนี้
  • ช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ (TMJ)

การดูแลรักษาหลังจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

  • รับประทานยาตามคำแนะนำของศัลยแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อลดผลแทรกซ้อนการติดเชื้อ ควรบ้วนปากและเริ่มแปรงฟันหลังผ่าตัดวันที่ 2 และแปรงฟันอย่างระมัดระวัง
  • ทันตแพทย์อาจใช้ยางยึดขากรรไกรบนและล่างไว้ด้วยกัน ในกรณีที่กัดฟันไม่ลงหรือฟันไม่สบกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ ระหว่างนี้ให้คนไข้รับประทานอาหารเหลวผ่านทางกระบอกฉีดยา ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเอายางออกให้ คนไข้สามารถเคลื่อนไหวขากรรไกรบนและล่างได้
  • ควรรับประทานอาหารเหลวในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการผ่าตัด เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของบาดแผลในช่องปาก
  • ไม่ควรเคี้ยวอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 สามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนๆได้ เช่น โจ๊ก ไข่ตุ๋น
  • การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สามารถทำได้ตามปกติ แต่ใน 1-2 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง
  • หลังสัปดาห์ที่ 2 สามารถออกกำลังกายเบาๆ เข่น เดิน เหยียดกล้ามเนื้อได้
  • หลังสัปดาห์ที่ 12 สามารถออกกำลังกายแบบเต้นแอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องปะทะกัน เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล กีฬาผาดโผน
  • ควรประคบเพื่อลดอาการบวม ประมาณ 3-5 วันแรกตลอดเวลาหลังผ่าตัด หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นประคบร้อน/อุ่น ต่อเนื่องอีก 3 วัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อลดอาการบวม
  • การนอนหลับ ควรนอนยกศีรษะสูง 30 องศา ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยในการลดบวม
  • หลีกเลี่ยงการล้วงเข้าไปในช่องปาก ห้ามเขี่ยแผลเล่น เพราะจะทำให้แผลหายช้าและเกิดการติดเชื้อ

การจัดฟันมีกี่แบบ ?

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.